สมาคมธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์
Call Contact
092-271-2050
บทความน่ารู้ที่ผ่านมา
 
 
บทความน่ารู้
 
รับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ปี 57
 

 

“ชวลิต” เร่งพิจารณาแผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ปี 57 เพื่อลดผลกระทบต่อการเพาะปลูกของเกษตรกร

นายชวลิต ชูขจร  ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการวางแผนและติดตามการป้องกัน และแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ณ ห้องประชุม 1 สำนักชลประทานที่ 11 กรมชลประทาน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำแผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร  ระยะที่ 2 ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง กันยายน ประจำปีงบประมาณ 2557 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงานป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร โดยได้กำหนดให้มีการทบทวนแผนเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบตามแนวทาง 2P2R ได้แก่ การป้องกัน การเตรียมความพร้อม การเผชิญเหตุ และการฟื้นฟู โดยได้จัดทำร่างแผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร เพื่อเป็นการเตรียมรับสถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน ซึ่งพบปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ ปัญหาฝนทิ้งช่วง ปัญหาอุทกภัย และปัญหาศัตรูพืชระบาด

ด้านปัญหาฝนทิ้งช่วง พบว่าช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรในหลายพื้นที่ คาดการณ์ว่าพื้นที่เกษตรที่จะประสบความแห้งแล้งรวม 17 จังหวัด คิดเป็นเนื้อที่ 1.264 ล้านไร่ ได้แก่ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดที่คาดว่าจะประสบความแห้งแล้งในพื้นที่เกษตรในช่วงฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานานและเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของข้าวและพืชไร่ คือ ข้าวโพด อ้อย และมันสำปะหลัง จังหวัดที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ซึ่งได้มีมาตรการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย 1.การปฏิบัติการฝนหลวง ได้จัดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 10-12 หน่วยปฏิบัติการ 2.การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาจากภัยแล้ง โดยเฉพาะการพัฒนาในพื้นที่นอกเขตชลประทาน เช่น โครงการแหล่งน้ำในไร่นอกเขตชลประทาน โครงการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชน  3.เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น

ด้านปัญหาอุทกภัย คาดการณ์ว่าพื้นที่เกษตรที่จะมีโอกาสเกิดน้ำท่วมขัง รวม 49 จังหวัด คิดเป็นพื้นที่ 3.66 ล้านไร่ ได้แก่ ภาคกลาง 9 จังหวัด คิดเป็นพื้นที่ทั้งหมด 1.50 ล้านไร่ ภาคเหนือ 13 จังหวัด คิดเป็นพื้นที่ทั้งหมด 0.85 ล้านไร่  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 จังหวัด คิดเป็นพื้นที่ทั้งหมด 0.54 ล้านไร่ ภาคตะวันออก 4 จังหวัด คิดเป็นพื้นที่ทั้งหมด 0.18 ล้านไร่ และภาคใต้ 6 จังหวัด คิดเป็นพื้นที่ทั้งหมด 0.59 ล้านไร่ ทั้งนี้คาดว่าพื้นที่เกษตรที่มีโอกาสสูงที่จะเกิดน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้างและเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้พืชที่ปลูกได้รับความเสียหายหรือตายจากสภาวะน้ำท่วมขัง และส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง มีจังหวัดที่ควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษ จำนวน 14 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ ลพบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สระบุรี ชัยภูมิ พิจิตร อุทัยธานี และสงขลา ซึ่งได้มีมาตรการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาจากอุทกภัย เช่น การก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดกลาง การก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบส่งน้ำ การขุดลองกำจัดวัชพืช การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการพยากรณ์และแจ้งเตือนภัย รวมทั้งระบบ โทรมาตรเพื่อการพยากรณ์น้ำและเตือนภัยลุ่มน้ำต่าง ๆ และด้านปัญหาศัตรูพืช ได้แก่ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง และศัตรูมะพร้าว ซึ่งได้มีมาตรการด้านการป้องกันและแก้ไข ประกอบด้วย การเฝ้าระวังและเตือนภัยการระบาดของศัตรูพืช การป้องกันและแก้ไขปัญหาศัตรูพืชระบาด รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรและชุมชนในการจัดการศัตรูพืช

“กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าฤดูฝนของประเทศไทยปีนี้จะเริ่มช้ากว่าปกติ ปริมาณฝนรวมคาดว่าจะน้อยกว่าค่าปกติและน้อยกว่าปีที่แล้ว อีกทั้งยังคาดว่าจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในปลายเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกพืชของเกษตรกร จึงต้องรีบแจ้งให้หน่วยงานในจังหวัดเร่งไปประชาสัมพันธ์ให้เกษตรทราบ เพื่อที่จะวางแผนบริหารจัดการพื้นที่เกษตรในการสำรองน้ำเพื่อใช้การการเพาะปลูกต่อไป” นายชวลิตกล่าว

 

ขอบคุณแหล่งที่มา

 

 
 
 
สมาคมธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์
2/9 หมู่ 3 ถ.รังสิต-นครนายก ต.ลำผักกูด อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี 12110
ahpa@thaiahpa.com, nantarat.sueb@gmail.com
© Copyright @ 2012 All Rights Reseved : www.thaiahpa.com
If you have any comments or questions regarding this website, please send your email to
www.cw.in.th All users must comply with the terms and conditions provided here in.