สมาคมธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์
Call Contact
092-271-2050
บทความน่ารู้ที่ผ่านมา
 
 
บทความน่ารู้
 
"แรคโตพามีน" หายนะ...ธุรกิจสุกรไทย? (ตอนสอง)
 

 

ผลกระทบจากการอนุญาตให้ใช้แรคโตพามีน เนื่องจากกรมปศุสัตว์มีหน้าที่ในการตรวจสอบเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรปห้ามมีสารกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ หากไทยยอมให้ใช้แรคโตพามีน ยุโรปก็จะบังคับให้ตรวจในเนื้อไก่ด้วย ส่งผลให้ไทยต้องมีความเข้มงวดในการตรวจมากขึ้น นอกจากนั้น ยังมีคำถามตามมาว่า เมื่อให้ใช้แล้วจะควบคุมอย่างไร ให้เกษตรกรใช้แรคโตพามีนเพียงอย่างเดียว ไม่ใช้สารกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ตัวอื่น เพราะเกษตรกรนิยมลักลอบใช้ซัลบูทามอล ที่มีราคาถูกกว่า ขณะที่เกษตรกรอาจไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาพันธุ์เท่าที่ควร เนื่องจากมีสารนี้มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อีกทั้งผลการประชุมที่มีมติ 69 : 67 ที่ใกล้เคียงกันมาก จึงมีผู้ทักท้วงว่า ความปลอดภัยของมนุษย์ยังต้องใช้การลงคะแนนด้วยหรือ และยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังมีข้อสงสัย โดยเฉพาะประเทศที่รับประทานเครื่องใน เนื่องจากมีผลการวิจัยพบว่า หากใช้แรคโตพามีนในปริมาณที่เพิ่มขึ้นกว่าระดับที่แนะนำ จะทำให้มีการสะสมในปอดแบบเพิ่มทวีคูณ เพราะค่า MRL ของโคเดกซ์กำหนดในเนื้อ ไขมัน ตับ และไตเท่านั้น ที่สำคัญหากจะอนุญาตให้ใช้ภาครัฐ ต้องทำหน้าที่ชี้แจงกับประชาชนว่า มีการอนุญาตให้ใช้สารดังกล่าว และสารนี้ใช้ในช่วงระยะท้ายของการเลี้ยง ไม่มีระยะหยุดก่อนจับขาย เนื้อสุกรจึงน่าจะมีแรคโตพามีนตกค้าง เพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่า เนื้อสุกรนี้มาจากฟาร์มที่ใช้แรคโตพามีน หรือไม่ได้ และให้ผู้บริโภคเลือกเอง

                การอนุญาตให้ใช้ ต้องพิจารณาถึงผลดีผลเสียอย่างรอบครอบ และต้องชี้แจงข้อมูลให้ทุกฝ่ายทราบ รวมทั้งต้องออกประกาศกระทรวงฯ ที่ปัจจุบันห้ามใช้สารกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ทั้งหมด ต้องยกเว้น แรคโตพามีน ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพอาหารที่มีตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน สมาคมที่เกี่ยวข้องต่างๆ เป็นผู้ตัดสินใจและเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศต่อไป แต่ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการเท่านั้น ดังนั้น ในระหว่างนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องระดมความคิด จัดการเตรียมตัว ไทยจึงไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศแรกๆ ที่ประกาศอนุญาตให้ใช้แรคโตพามีนตามโคเดกซ์ก็ได้  

            ด้านผู้ประกอบการผลิตสุกรมองว่า หากอนุญาตให้ใช้แรคโตพามีนในการเลี้ยงสุกร อาจทำให้สหรัฐอเมริกาส่งเครื่องในราคาถูกเข้ามาจำหน่าย ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรโดยตรง เนื่องจากสหรัฐอเมริกามีปริมาณสุกร 67 ล้านตัว มากกว่าไทย 4-5 เท่า มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า เนื่องจากเป็นแหล่งวัตถุดิบ ซึ่งมูลค่าการส่งออกเครื่องในของอเมริกาไปตลาดทั่วโลกมีประมาณ 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเมื่อพิจารณาราคาเครื่องในส่งออกของอเมริกาพบว่า ตับ ขายที่กิโลกรัมละ 12 บาท หรือหนังขายที่กิโลกรัมละ 15 บาท รวมค่าขนส่งประมาณ 10 บาทต่อกิโลกรัม โดยสาเหตุที่อเมริกาขายเครื่องในราคาถูกมากได้ เนื่องจากราคาเนื้อสุกรในอเมริกาสูง เฉลี่ยกิโลกรัมละ 300 บาท ขณะที่เครื่องในคนไม่นิยมบริโภค จึงส่งออกมาประเทศทางเอเชียที่รับประทานทุกชนิดส่วน หากส่งเข้ามาเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไทยจะแข่งขันได้หรือไม่ เพราะประเทศไทยเครื่องในราคากิโลกรัมละ 80-90 บาท เนื้อแดงกิโลกรัมละ 120 บาท หากไทยอนุญาตให้ใช้แรคโตพามีน เครื่องในจากอเมริกาจะเข้ามาแน่นอน และส่งผลกระทบต่อราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มที่ทุกวันนี้ก็ไม่ดีอยู่แล้ว กลายเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้กับเกษตรกร และอาจจะอยู่ในอาชีพการเลี้ยงสุกรต่อไปไม่ได้

                ขณะที่การปนเปื้อนแรคโตพามีนในอาหารสัตว์ ก็เป็นอีกปัญหาที่ต้องให้ความสำคัญ เพราะโรงงานอาหารสัตว์ในประเทศไทยกว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ ผลิตอาหารไก่เนื้อและสุกรร่วมกัน หากอนุญาตให้ใช้แรคโตพามีนทุกโรงงานจะใส่เข้าไปในสูตรอาหารด้วย เพราะไม่ใช้ก็ขายไม่ได้ ทำให้มีโอกาสปนเปื้อนไปยังอาหารไก่เนื้อ และตกค้างในผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรป กระทบต่อการส่งออกไก่เนื้อ ที่ทุกวันนี้ผลิตมากกว่าความต้องการบริโภค เมื่อการส่งออกมีปัญหา ราคาไก่เนื้อตกต่ำ ราคาสุกรก็จะตกต่ำตามไปด้วย กลายเป็นผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่สำคัญของไทย และการป้องกันการปนเปื้อนแรคโตพามีนในอาหารไก่เนื้อที่ผลิตในโรงงานเดียวกับอาหารสุกรทำได้ยากมาก จะสร้างโรงงานใหม่เพื่อผลิตอาหารสุกรหรือไก่เนื้ออย่างเดียวก็ต้องลงทุนสูง

                นอกจากนั้น ถ้าอนุญาตให้ใช้ก็ผิดกับหลักการรณรงค์เกี่ยวกับอาหารปลอดภัยที่ดำเนินมาทั้งหมด เพราะที่ผ่านให้ข้อมูลกับผู้บริโภคว่า สารเร่งเนื้อแดงเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง หัวใจ และหลอดเลือด มาหลาย 10 ปี แต่จู่ๆ อนุญาตให้ใช้จะทำให้เกิดความกังวล และข้อสงสัยต่างๆ ตามมาว่า แรคโตพามีนอยู่ในกลุ่มเดียวกับสารเร่งเนื้อแดงหากนำมาบริโภคแล้วจะเป็นอย่างไร ซึ่งรัฐต้องอธิบายชี้แจงทำความเข้าใจ และควรให้ผู้บริโภคเป็นผู้เลือกว่า จะรับประทานเนื้อสุกรที่มาจากการเลี้ยงโดยใช้สารแรคโตพามีนหรือไม่

                จึงอยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ เพราะประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศแรกๆ ที่อนุญาตให้ใช้แรคโตพามีน รอให้จีนและสหภาพยุโรปประกาศให้ใช้ก่อน แล้วไทยเป็นประเทศท้ายๆ ที่ให้ใช้ หรือจะคงประกาศห้ามใช้สารกลุ่มสารเร่งเนื้อแดงต่อไปก็ได้ ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการซื้อเวลาให้ผู้ประกอบการ ผู้เลี้ยง และธุรกิจได้ปรับตัว เพื่อรับมือกับผลกระทบ และระหว่างนี้ควรจัดการให้ไทยมีเขตปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย สามารถส่งออกได้ เมื่อประกาศให้ใช้แรคโตพามีน อเมริกาจะส่งเครื่องในเข้ามา ไทยก็สามารถส่งเนื้อสุกรไปขายที่อเมริกาที่มีราคาแพงกว่าไทย นำเงินตราเข้าประเทศได้ แต่หากประกาศก่อนก็ได้รับผลกระทบ กลายเป็นฝ่ายตั้งรับอย่างเดียว การเลี้ยงสุกรของไทยคงอยู่ต่อไม่ได้แน่นอน...

ขอบคุณแหล่งที่มา

 

 
 
 
สมาคมธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์
2/9 หมู่ 3 ถ.รังสิต-นครนายก ต.ลำผักกูด อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี 12110
ahpa@thaiahpa.com, nantarat.sueb@gmail.com
© Copyright @ 2012 All Rights Reseved : www.thaiahpa.com
If you have any comments or questions regarding this website, please send your email to
www.cw.in.th All users must comply with the terms and conditions provided here in.