สมาคมธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์
Call Contact
092-271-2050
บทความน่ารู้ที่ผ่านมา
 
 
บทความน่ารู้
 
"แรคโตพามีน" หายนะ...ธุรกิจสุกรไทย? (ตอนแรก)
 

จากการประชุมของคณะกรรมการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ ของ "โคเดกซ์ (CODEX)" ในเดือนกรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา มีมติที่ประชุม 69 :  67 เห็นชอบให้มีการกำหนดค่าสูงสุดที่อนุญาตให้มีได้ หรือ MRLs ของ "แรคโตพามีน (Ractopamine)" ซึ่งเป็นสารกลุ่มของสารเร่งเนื้อแดง โดยมติดังกล่าวหมายถึง การอนุญาตให้ใช้แรคโคพามีนในการเลี้ยงสัตว์ได้ กระทบต่อธุรกิจสุกรในประเทศไทย ที่ห้ามใช้สารในกลุ่มเร่งเนื้อแดงทั้งหมด แต่ขณะเดียวกันก็อ้างอิงมาตรฐานจากโคเดกซ์มาตลอด สหรัฐอเมริกาจึงเดินหน้ากดดันไทยทุกวิถีทางให้ยอมเปิดตลาดเนื้อสุกร ชิ้นส่วน และเครื่องในให้ ส่งผลให้ผู้เลี้ยงรวมพลังกัน ยื่นหนังสือคัดค้านต่อนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลในวัน 11 มิถุนายนที่ผ่านมา ดังนั้น จึงควรทำความรู้จักกับแรคโตพามีน และผลกระทบต่างๆ ที่มีต่อธุรกิจการเลี้ยงสุกรไทย

                "แรคโตพามีน" เกิดจากการค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสัตว์ รองรับการบริโภคที่ขยายตัวตามจำนวนประชากรโลก จัดอยู่ในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ซึ่งใช้เป็นสารกลุ่มที่ใช้เป็นยารักษาโรคหอบหืดในมนุษย์มากว่า 30 ปี ถือเป็นสาร "ฟีเนททาโนลามีน" (Phenethanolamine) มีองค์ประกอบหลัก คือ ฟินิว และเมททาโนลามีน โดยมีฤทธิ์ไปสนับสนุนการทำงานของเบต้ารีเซพเตอร์ (beta-receptor) ที่มีอยู่ทั้งในคนและสุกร ซึ่งแบ่งเป็น เบต้า-1 (beta-1) และ เบต้า-2 (Beta-2) โดยเบต้า 1 ทำหน้าที่เกี่ยวกับการสลายไขมัน และเพิ่มการสร้างโปรตีน ขณะที่เบต้า 2 เกี่ยวข้องกับระบบหลอดเลือด และระบบทางเดินหายใจ เมื่อสารเบต้าอะโกนิสต์ไปจับเบต้ารีเซพเตอร์ที่ต่างกัน ก็กระตุ้นการทำงานแตกต่างกัน คือ หากไปจับกับเบต้า-1 จะทำหน้าที่สลายไขมันได้ดีขึ้น และกระตุ้นการสร้างโปรตีนได้มากขึ้น

                อย่างไรก็ดี สารกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ออกฤทธิ์ ทำงาน และมีความปลอดภัยแตกต่างกัน เป็นผลจากโครงสร้างทางเคมีที่แตกต่างกัน ส่งผลให้กระบวนการทำงาน ความไวต่อรีเซพเตอร์ และการออกฤทธิ์ต่างกันตามไปด้วย จึงใช้ ค่าครึ่งชีวิต (Half-life) ที่บ่งบอกให้รู้ว่า สารแต่ละชนิดอยู่ในร่างกายได้นานเพียงใด โดย แรคโตพามีน มีค่าครึ่งชีวิต 4 ชั่วโมง แสดงว่า สลายตัวได้เร็ว มีการสะสมในร่างกายต่ำมาก ต่างจาก เคลนบูเทอรอล ที่มีค่าครึ่งชีวิต 30 ชั่วโมง แสดงว่า สะสมในร่างกายได้นานกว่า มีโอกาสสะสมในร่างกายสูง ค่าครึ่งชีวิตนี้ จึงทำให้ความปลอดภัยของสารเบต้าอะโกนิสต์แต่ละตัวแตกต่างกันอย่างชัดเจน

                 แต่ "แรคโตพามีน" เป็นสารตัวเดียวในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ที่ออกฤทธิ์กับ เบต้า-1 ที่เกี่ยวข้องกับการสลายไขมันและสร้างโปรตีน เท่านั้น จึงมีความปลอดภัยสูง ต่างจากสารที่ออกฤทธิ์กับ เบต้า-2 ที่เกี่ยวข้องกับระบบหลอดเลือดและทางเดินหายใจที่มีอยู่ทั่วไปในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะกล้ามเนื้อเรียบ กล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งมีอันตรายสูงกว่า นอกจากนั้น การศึกษาวิจัยพบว่า แรคโตพามีน หากจะเกิดอันตรายต้องได้รับมากกว่า 10,000 ไมโครกรัมต่อวัน แตกต่างจากเคลนบูเทอรอล (สารอีกชนิดในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์) ถ้าได้รับเกิน 10 ไมโครกรัมต่อวันก็อันตรายแล้ว หรือหากนำเคลนบูเทอรอลมาผสมอาหารสัตว์ในอัตราส่วน 1 พีพีเอ็ม จะตรวจพบเคลนบูเทอรอลในเนื้อประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ของระดับที่ปลอดภัย หรือตกค้างไปแล้ว 8 ไมโคกรัม จึงมีความเสี่ยงสูง ต่างจาก แรคโตพามีน ที่จากการศึกษาพบว่า ใช้ผสมอาหารสัตว์ในระดับ 30 พีพีเอ็ม ซึ่งสูงกว่าระดับที่แนะนำให้ใช้ถึง 3 เท่า (แนะนำให้ใช้ที่ 10 พีพีเอ็ม)  จะมีแรคโตพามีนตกค้างในเนื้อเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์ ของระดับที่ปลอดภัย เป็นที่มาของการกำหนดค่าสูงสุดที่อนุญาตให้มีได้ หรือ MRL : Maximum Residues Limitation ของแรคโตพามีน ที่โคเดกซ์เพิ่งรับรองในการประชุมเดือนกรกฎาคม ปี 2555 ที่ผ่านมา

                แรคโตพามีน คือ สารกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ที่อนุญาตให้ใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาที่อนุญาตให้ใช้มากว่า 10 ปีแล้ว โดยบริษัทผู้ค้นพบ ในปี 2522 ใช้ระยะเวลาศึกษาวิจัยอีกกว่า 20 กว่า USDA จะอนุญาตให้ใช้ในปี 2542 ซึ่งประโยชน์ของแรคโตพามีน เมื่อใช้ผสมอาหารเลี้ยงสุกรในจำนวนวันเท่ากันจะได้เนื้อแดงเพิ่มขึ้น 5 กิโลกรัม ไขมันลดลง 3 กิโลกรัม หรือหากจับสุกรที่น้ำหนักเดียวกันจะใช้อาหารน้อยลง 18.5 กิโลกรัม ระยะเวลาเลี้ยงสั้นลง 4 วัน ช่วยลดของเสียจากการเลี้ยงสุกรได้ประมาณ 18 กิโลกรัม โดยแรคโตพามีนไม่ใช้ยาลดไขมัน เนื่องจากสุกรที่กินแรคโตพามีนยังมีไขมันอยู่ แต่เปอร์เซ็นต์เนื้อแดงจะเพิ่มขึ้น กล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น เนื้อสันใหญ่ขึ้น โดยกระบวนการทำงานของแรคโตพามีน จะเข้าไปจับกับเบต้า-1 ช่วยเพิ่มการสังเคราะห์โปรตีนและช่วยสลายไขมัน ทำให้ปริมาณเนื้อแดงเพิ่มขึ้น ไขมันลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่า หากใช้แรคโตพามีนแล้วไม่ต้องปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ หรือใช้สุกรอะไรก็ได้ เติมแรคโตพามีนแล้วได้เนื้อแดงเหมือนกันทั้งหมดนั้นเป็นไม่ได้ เนื่องจากศักยภาพของพันธุกรรมมีผลต่อประสิทธิภาพการผลิต การเสริมแรคโตพามีน จึงเป็นการต่อยอดประสิทธิภาพการผลิตจากพันธุกรรมเท่านั้น 

                สำหรับความปลอดภัยของแรคโตพามีน ที่ผ่านมาสหภาพยุโรปไม่อนุญาตให้ใช้ เพราะพิสูจน์ความปลอดภัยไม่ได้ แต่ต่อมาเมื่อมีผลการศึกษาวิจัยมากพอ มีการให้ข้อมูลกับคณะกรรมการพิจารณาของโคเดกซ์นำไปสู่การกำหนดค่า MRL ที่หมายความว่า เนื้อที่บริโภคมีสารดังกล่าวได้ในระดับที่กำหนด แต่ไม่ได้หมายความว่า อนุญาตให้ใช้แรคโตพามีน ดังนั้น ประเทศที่ยอมรับและอ้างอิงมาตรฐานต่างๆ จากโคเดกซ์ ก็ต้องยอมรับให้มีแรคโตพามีนในเนื้อได้แต่ต้องไม่เกินระดับที่กำหนด โดยโคเดกซ์ คำนวณจากเนื้อ ไขมัน ตับ และไต พบว่า คนกินเนื้อ 300 กรัมต่อวัน ไขมัน 50 กรัมต่อวัน ไต 50 กรัมต่อวัน และตับ 100 กรัมต่อวัน ได้ค่า MRL ของสารแรคโตพามีนเท่ากับ 0.25 พีพีเอ็ม ในเนื้อสุกร 1.5 พีพีเอ็ม ในไขมัน 0.75 พีพีเอ็มในตับ และ 1.5 พีพีเอ็มในไต หมายความว่า หากเนื้อ ไขมัน ตับ และไต มีสารแรคโตพามีนไม่เกินระดับที่กำหนดนี้ อนุญาตให้บริโภคได้ พร้อมกันนี้ จากการศึกษาการตกค้างของสารแรคโตพามีนในการเลี้ยงสุกรพบว่า หากใช้ในระดับ 30 พีพีเอ็ม ผสมอาหารให้กินเป็นเวลา 28 วัน จนกระทั่งส่งชำแหละ ตรวจหาการตกค้างพบว่า มีสารตกค้างในกล้ามเนื้อเพียง 0.01-0.02 พีพีเอ็ม ส่วนในตับพบสูงสุด 0.42 พีพีเอ็ม ซึ่งต่ำกว่าค่า MRL ที่กำหนดมาก ถ้าหากจะเกิดอันตรายจากการได้รับแรคโตพามีนตกค้างต้องกินเนื้อสุกร 350 กิโลกรัมต่อวัน หรือกินตับประมาณ 15 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้

                การใช้แรคโตพามีน ต้องไม่มีระยะหยุดก่อนจับขาย เพราะจะไม่เห็นถึงความแตกต่างของการใช้ โดยแนะนำให้ใช้ในช่วง 28 วัน วันก่อนจับ และหากใช้ก่อนหน้านี้ก็ไม่เห็นผล เนื่องจากเป็นระยะที่สุกรยังไม่สะสมไขมัน ดังนั้น หากจะใช้ก็ต้องยอมรับหลักการดังกล่าว นอกจากนั้นยังมีรายงานว่า แรคโตพามีน มีความปลอดภัยต่อการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งปัจจุบันประเทศที่อนุญาตให้ใช้ คือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฮ่องกง นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ ส่วนสหภาพยุโรปที่อ้างอิงจากมาตรฐานของโคเดกซ์ ขณะนี้ยอมให้เนื้อสุกรนำเข้ามีสารแรคโตพามีนได้ในระดับที่ไม่เกินค่า MRL แต่ยังไม่อนุญาตให้ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ ขณะที่ญี่ปุ่นกำลังศึกษาพัฒนาค่า MRL ของตนเองขึ้นมาใช้ ที่สำคัญแรคโตพามีนสามารถตรวจสอบย้อนกลับและแยกจากสารเบต้าอะโกนิสต์ตัวอื่นๆ ได้อย่างชัดเจน

            อย่างไรก็ดี แม้โคเดกซ์จะมีมติอนุญาตให้มีค่า MRL ของแรคโตพามีนได้ แต่โดเดกซ์ก็กำหนดไว้ใน Code of Practice on Good Animal Feed (CAC/RCP 54-2004) ในด้านสารตกค้างจากการเลี้ยงสัตว์ที่ตกค้างถึงเนื้อและผลิตภัณฑ์ เป็นสิ่งที่ไทยในฐานะผู้ส่งออกเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ต้องปฏิบัติตาม โดยตามแผนการตรวจสอบสารตกค้างในสหภาพยุโรป Council Directive 96/23/EC of 29 April 1996 ที่ต้องตรวจสารตกค้างในกลุ่ม A ที่พบไม่ได้ในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ คือ ฮอร์โมน แอนติไทรอยด์ สเตอรอยด์ ยารักษาโรคเรื้อน สารกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์และอนุพันธ์ต่างๆ ที่ต้องตรวจสอบเป็นประจำ และกลุ่ม B คือ สารที่พบได้ แต่ไม่เกินค่า MRL เช่น ยาถ่ายพยาธิ ยาซึม ยาสลบ หรือยาแก้ปวด       

                ขณะที่สารเคมีและวัตถุที่เติมในอาหารสัตว์ ที่ห้ามเลี้ยงสัตว์ คือ อะโวมาซิน เบต้าอะโกนิสต์ คลอแรมฟีนาคอล คาร์บาด็อกซ์ ไนโตรฟูแรนส์ ไดเอทธิวสติบาซอล เมลามีนและอนุพันธ์ ซึ่งหากพบตามพรบ.อาหารสัตว์ ผู้เลี้ยงและผู้จำหน่ายจะมีโทษ จำคุก 1 ปี ปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยสารที่ห้ามใช้ แบ่งเป็น กลุ่มที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น ไนโตรฟูแรนส์ ไนโตรอิมิดาโซล คลอแรมแฟนนิคอล คาร์บาด็อก และฮอร์โมน กลุ่มที่มีผลต่อการดื้อยา คือ อะโวมาซิน กลุ่มที่มีผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจและหลอดเลือด คือ เบต้าอะโกนิสต์ เช่น ซัลบูทามอล เป็นยามีทะเบียนในคน แต่ไม่มีทะเบียนในสัตว์ เคลนบูเทอรอล เป็นยาที่มีทะเบียนในสัตว์ ใช้รักษาโรคหอบหืดในสัตว์ แต่ไม่มีทะเบียนในคน แรคโตพามีน มีทะเบียนในสัตว์ (ออกโดย อย.) แต่ไม่มีทะเบียนในคน และยังมีสารในกลุ่มนี้อีกหลายชนิดที่พัฒนาให้นำมาใช้ในการผลิตสัตว์ โดยเฉพาะโคเนื้อ เช่น ซิลบาเทอรอล ที่อนุญาตให้ใช้ในสหรัฐอเมริกาแล้ว

                จากรายงานของ กรมปศุสัตว์ ที่ดำเนินการตรวจสอบสารต้องห้ามในฟาร์มเป็นประจำ โดยปี 2551 ดำเนินคดี 45 ราย ปี 2552 ดำเนินคดี 77 ราย ปี 2553 ดำเนินคดี 47 ราย ปี 2554 ดำเนินคดี 50 ราย และปี 55 ถึงเดือนกันยายนดำเนินคดี 35 ราย โดยเป็นสารในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ในปี 2553 พบว่า เป็นซัลบูทามอล 26 ราย แรคโตพามีน 7 ราย ปี 2554 เป็นซัลบูทามอล 21 ราย แรคโตพามีน 5 ราย และปี 2555 เป็นซัลบูทามอล 15 ราย แรคโตพามีน 1 ราย และพบทั้ง 2 ชนิดอีก 1 ราย ซึ่งปัจจุบัน ซัลบูทามอล ผู้เลี้ยงจะลักลอบใช้มากกว่า เพราะเป็นยาในคน ส่วนระดับการใช้ก็แล้วแต่ผู้แนะนำ การตรวจสอบทำโดยสุ่มกับตัวอย่างปัสสาวะ และอาหาร หากผลการตรวจปัสสาวะด้วยวิธีอีไลซ่าเป็นบวก จะสั่งกักสุกรในฟาร์มนั้นทันที ขณะเดียวกันก็จะตรวจอาหารที่เก็บมาด้วยวิธีอีไลซ่า และยืนยันด้วยวิธีการแอลซีเอ็มเอสเอ็มเอส เพื่อดำเนินคดีต่อไป

 

ขอบคุณแหล่งที่มา

 

 
 
 
สมาคมธุรกิจเวชภัณฑ์สัตว์
2/9 หมู่ 3 ถ.รังสิต-นครนายก ต.ลำผักกูด อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี 12110
ahpa@thaiahpa.com, nantarat.sueb@gmail.com
© Copyright @ 2012 All Rights Reseved : www.thaiahpa.com
If you have any comments or questions regarding this website, please send your email to
www.cw.in.th All users must comply with the terms and conditions provided here in.